Kodak Brownie No.2 Model F Sample Photo Digital Scan Negative Contact
หลังจากที่ Kodak ประสบความสำเร็จกับกล้อง Kodak Brownie No.1 ที่มาพร้อมกับฟิล์มที่บรรจุพร้อมถ่ายรูป ได้จำนวน 100 รูป ด้วยแคมเปญ "You Press the Button, We Do the Rest" คือ ผู้ถ่ายแค่ทำการกดปุ่มชัตเตอร์ และ ส่งไปให้ทางบริษัทฯ จัดการล้างและอัดรูป ส่งกลับมา พร้อมกล้องที่บรรจุฟิล์มมาให้ใหม่อีกครั้ง แล้ว Kodak ก็ได้ทำการออกกล้องรุ่นใหม่ ที่ใช้ง่ายเหมือนเดิม เพิ่มเติมฟังชั่นบางอย่าง ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนฟิล์ม และ ล้างได้เอง ออกมาเป็นรุ่นที่ 2
กล้องกล่อง Kodak Brownie No.2 รุ่นนี้ เริ่มมีใช้กันประมาณปี ค.ศ. 1901-1935 มีทั้งหมด 6 Model คือ Model A - Model E และ เป็นกล้องรุ่นแรกที่เริ่มมีการใช้ฟิล์มม้วนขนาด 120 กล้องตัวที่เห็นนี้เป็น Model F ...
ผลิตขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1924 ซึ่งอยู่ในช่วงปลายของวงจรการผลิต รุ่น หรือ Model A-E ตัวกล้องยังทำด้วยกล่องกระดาษ แต่รุ่นนี้ Model F เปลี่ยนเป็นกล่องโลหะแล้ว ทำให้มีความคงทนมากขึ้น โดยกล้องจะมีช่องมองภาพ ทั้งแนวตั้ง และ แนวนอน มีแถบเหล็กที่สามารถดึงออกสองแถบที่ด้านบน
Kodak Brownie No2 Model F Viewfinder
ช่องมองภาพ สามารถดูได้ทั้งแนวตั้ง และ แนวนอน
Kodak Brownie No2 Model F Viewfinder
แถบเลื่อนด้านบน จากรูป ตัวซ้าย (ใหญ่) คือแถบเปลี่ยน ช่องรับแสง
ตัวขวา (เล็ก) คือแถบเปลี่ยนความเร็วชัตเตอร์ ระหว่าง 1/50 วินาที กับ Blub
ใช้งานโดยการจับและดึงขึ้น
Kodak Brownie No2 Model F Shutter Lever
แถบเปลี่ยนความเร็วชัตเตอร์ระหว่างประมาณ 1/50 กับ Bulb
จับแถบเลื่อนดึงขึ้น เพื่อใช้งานชัตเตอร์แบบ Blub
ไกลั่นชัตเตอร์อยู่ด้านขวาของตัวกล้องใกล้ด้านหน้า
ไกลั่นชัตเตอร์ ใช้งานโดยการกด ขึ้น หรือ ลง ได้ทั้ง 2 ทาง
ชัตเตอร์ 1/50 วินาที กดครั้งเดียว ขึ้น หรือ ลง อย่ากดซ้ำ เพราะจะให้เป็นภาพซ้อน
ชัตเตอร์ Blub กดหนึ่งครั้งเพื่อเปิดม่านชัตเตอร์ กดอีก 1 ครั้ง เพื่อปิดม่านชัตเตอร์
อีกแถบหนึ่งดึงเพื่อเปลี่ยนช่องรับแสงได้สามแบบคือ f/11, f/22 และ f/32
ดึงแถบสำหรับเปลี่ยนช่องรับแสงขึ้น ทีละขั้น
เลนส์แบบวงเดือน มีทางยาวโฟกัส 100 มม. และ ระยะโฟกัสใกล้สุด 3 เมตร หรือ 10 ฟุต
ใช้ฟิล์มม้วน 120 จะได้รูปขนาดประมาณ 6x9 ซม. จำนวน 8 รูป
ตัวล๊อคฝาด้านหลัง ฝาด้านหลังจะมีปั๊มนูน รายละเอียดต่าง ๆ และ แจ้งว่าใช้กับฟิล์ม 120
ก่อนเปิดฝา ต้องหมุนและดึงที่ม้วนฟิล์มออกมาก่อน จึงจะดึงที่โหลดฟิล์มออกมาได้
เปิดฝาหลัง และ ดึงตัวสำหรับโหลดฟิล์มออกมา
การถ่ายรูปในยุคนั้น ก่อนที่จะเป็นกล้องที่ใช้ฟิล์มม้วน กล้องส่วนใหญ่ จะใช้กับฟิล์มกระจกเปียก หรือ กระจกแห้ง และมีฟังชั่นการปรับมากมาย ทั้งความไวชัตเตอร์ ช่องรับแสง ฯลฯ แบบมืออาชีพ ราคาก็สูงตามความยากของการผลิต เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการล้างฟิล์ม พิมพ์รูปก็มากมาย ค่าใช้จ่ายก็สูงตาม ซึ่งคนธรรมดาทั่วไป ยากที่จะทำการถ่ายรูปด้วยตัวเองได้
แนวความคิดของ Kodak ในยุคนั้น คือต้องการผลิตกล้องให้คนทั่วไป ซื้อกล้องไปแล้วใช้งานได้เลยแบบง่าย ๆ ไม่ต้องตั้งค่าอะไรมาก สามารถล้างฟิล์มได้เอง และ อัดรูปออกมาดูได้เองโดยง่าย การพิมพ์รูปที่ง่ายที่สุดก็คือการพิมพ์รูปแบบติดต่อ หรือที่เรียกว่า Contact Print ก็สามารถดูรูปที่ต้องการได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมืออัดขยายใด ๆ จึงทำให้เกิดการผลิตกล้องรุ่นนี้ในราคาย่อมเยา เป็นกล้องที่เหมาะสมกับสาธารณะชนทั่วไปที่แม้จะไม่ได้เรียน ฝึกฝน หรือมีความรู้เรื่องการถ่ายรูปมาก่อน ทำให้ใช้งานง่าย และ ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เมื่อผู้คนทั่วไปสามารถถ่ายรูปได้ พิมพ์รูปเองได้ นอกจากรายได้ที่ได้จากการขายกล้องแล้ว ฟิล์ม กระดาษอัดรูป น้ำยา ต่าง ๆ ก็เพิ่มรายได้ให้กับ Kodak เป็นอย่างมาก
สำหรับการใช้กล้องถ่ายรูปแบบนี้ในปัจจุบัน อาจจะไม่คล่องตัว และ ไม่สามารถจะถ่ายรูปในทุกสภาพแสง ได้ตามความต้องการเหมือนกับกล้องรุ่นใหม่ ๆ ที่มีอยู่มากมาย เพราะ ค่าชัดเตอร์สปีด มีแค่ค่าเดียวคือ 1/50 วินาที (และไม่แน่นอนด้วย ตามอายุการใช้งาน) ช่องรับแสง ก็มี 3 ค่าให้เลือก f/11, f/22 และ f/32 เท่านั้น ถ้าเทียบเป็น EV โดยประมาณ กับฟิล์ม ISO 100 ชัตเตอร์สปีด 1/50 sec. กับระยะเลนส์ 100mm ค่าที่ได้มีดังนี้
f/11 = 13 EV สภาพแสงมีเมฆ แบบสว่าง ๆ หรือในที่ร่มนอกอาคาร
f/22 = 15 EV แสงแดด สว่าง ตอนกลางวัน (Sunny 16)
f/32 = 16 EV แสงแดดจ้า ถ่ายชายหาด หรือ หิมะขาว
ถ้าเทียบกฏซันนี่ 16 จะอยู่ที่ 15 EV โดยประมาณ ( ISO100 : 1/100 : f/16)
ก็แสดงว่า กล้องตัวนี้ จะต้องถ่ายอย่างน้อย ในร่มไม้ที่มีแสงส่งถึง ออกแดด และ แดดจ้ามาก ๆ ถึงจะได้รูป ในร่มหรือในห้องต้องใช้ Blub แน่นอน ทาง Kodak เองก็แนะนำการถ่ายรูปด้วยกล้องกล่องแบบนี้ไว้ว่า "หลังพระอาทิตย์ขึ้น 2 ชม. และ ก่อนพระอาทิตย์ตก 2 ชม." (ประมาณ 9 โมงเช้า ถึง บ่ายสี่โมง) น่าจะได้รูปที่ดี และชัตเตอร์ช้าขนาด 1/50 sec. กับทางยาวโฟกัสของเลนส์ ที่ 100 มม. (หมายถึง ระยะจากเลนส์ ถึงระนาบฟิล์ม) ถ้าถือไม่นิ่งจริง ๆ กล้องสั่นภาพเบลอแน่นอน กล้องตัวนี้จึงมี Tripod mount หรือรูเกลียวสำหรับยึดแป้นขาตั้งมาให้
ข้อสังเกตอีกอย่าง ระยะเลนส์ 100 มม. กับฟิล์มขนาด 6x9มม. ระยะชัดลึกมีน้อย คิดว่า น่าจะทำมาเพื่อถ่ายรูปบุคคล หรือสิ่งของ ไม่เหมาะกับการถ่ายวิว ทิวทัศน์ ที่ต้องการความคม และ ชัดลึกสูง
f11 = 3-3.5 ฟุต (โฟกัสที่ 3.2 ฟุต)
f22 = 3-4 ฟุต (โฟกัสที่ 3.4 ฟุต)
f32 = 3-4.5 ฟุต (โฟกัสที่ 3.6 ฟุต)
** ระยะชัดนี้ยังไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะยังไม่ได้ลองเช็คดู **
รูปตัวอย่างจากกล้อง
กล้อง Kodak Brownie No. 2 Model F
ฟิล์ม Kentmere Pan 100
ถ่ายในที่ร่มหน้าตึกที่มีแสงสว่างส่องถึง ก็ดูโอเคดี รูปสุดท้าย ออกกลางแดด ก็ใช้ได้ดีเช่นกัน ส่วนความคมชัด คิดว่าควรจะต้องเกิน 3 ฟุตไปสักหน่อย สัก 3.5-4.5 ฟุต กำลังสวย
รูปนี้ถ่ายในร่มตรงบันไดที่อยู่หน้าตึก แสงกลางวัน สะท้อนเข้ามากำลังดี ระยะห่างประมาณ 4 ฟุต
รูปนี้ขยับใกล้เข้าไปนิดนึง เบลอเลย
ออกมานอกตึกพ้นเงาร่ม กลางแดดจ้า ๆ ถ่ายได้เลย สบาย ๆ
ในยุคปัจจุบันเราอาจจะชิน หรือ ต้องการกล้องที่ถ่ายได้ตามใจเรา ถ้าลองมาถ่ายรูปตามใจกล้องบ้าง น่าจะสนุกดีนะครับ
รายละเอียดของกล้องอย่างเป็นทางการ
Specifications : Kodak Brownie No. 2 Model F
Made in the USA
Film: Uses 120 roll film
Lens: 10 cm meniscus lens
Apertures: F11, f/22, and f/32
Shutter speed: 1/50
Minimum focus distance: 3 meters (10 feet)
Weight: 500 grams
Body: Metal covered in leatherette
Viewfinders: Two, one for portrait and one for landscape
Tripod mount: Yes
Bulb mode: Yes
Size: 5.5 in x 3 in x 4 in
ความคิดเห็นขับเคลื่อนโดย CComment